ศาสนาทุกศาสนาก็เหมือนกันไม่ใช่หรือ? คำสอนหลักของทุกศาสนาก็คือที่มนุษย์พยายามจะไปให้ถึงพระเจ้าไม่ใช่หรือ? นี่เป็นคำถามที่คนมักจะถามคริสเตียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย และบ่อยครั้งที่การสนทนาในเรื่องนี้ไปไม่ได้ไกลนัก เพราะมันมักจะเผยออกมาว่าคริสเตียนเป็นพวกโง่หรือไม่งั้นก็ใจแคบที่คิดว่าศาสนาคริสต์พิเศษและแตกต่างจากศาสนาอื่นๆในโลกนี้ อย่างไรก็ตาม ใครจะพูดได้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิดในศาสนาแต่ละศาสนา บางความเชื่ออาจจะดีกว่าหรือแย่กว่าสำหรับวัฒนธรรมแต่ละวัฒนธรรม แต่ถ้าจะให้พูดว่ามีเพียงศาสนาเดียวที่อยู่เหนือมนุษย์ทุกคนตลอดมา ก็เป็นอะไรที่ใจแคบจริง!

ข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของศาสนาคริสต์กับศาสนาอื่นก็คือ ศาสนาอื่นเชื่อว่าทุกศาสนากำลังชี้ไปที่สิ่งเดียวกัน เหมือนกับที่มีทางหลายทางที่เราจะปีนขึ้นภูเขาลูกหนึ่งได้ ดังนั้นก็มีหลายทางที่จะพาเราไปถึงพระเจ้าได้ และนี่เป็นความเชื่อที่พบได้ทั่วๆไป ฝูงชนกำลังยึดถือความคิดอันคลุมเครือที่ว่าทุกศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกัน จริงๆแล้วพวกผู้ขับเคลื่อนทางศาสนาก็สนับสนุนการรวมทุกศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเปิดเผย

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดนี้ก็พบได้ในคำกล่าวของ สวามี วิเวกานันท์ จากอินเดีย ที่กล่าวปราศัยในการประชุมเวิร์ลคองเกรสทางศาสนา (World Congress of Religions) ในปี 1893 โดยเขาได้กล่าวปิดคำปราศัยของเขาว่า “ขอพระพรหมของชาวฮินดู พระอาหุรา มาสด้าของชาวโซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้าของชาวพุทธทั้งหลาย พระเยโฮวาห์ของชาวยิว ตลอดจนพระบิดาบนสวรรค์ของชาวคริสเตียน ประทานกำลังให้แก่ทุกท่านที่จะประสบความสำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนา” เมื่อมองอย่างผิวเผินนี่ก็ดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่มีมารยาทและใจกว้าง จริงอยู่ที่มนุษย์ทุกคนก็กำลังเพียรพยายามไปให้ถึงในสิ่งเดียวกันซึ่งพวกเขามักจะเรียกสิ่งนั้นแตกต่างกันออกไป แต่กรณีนี้เหมือนกันหรือ พระพรหมของฮินดูเหมือนกับพระบิดาบนสวรรค์ของชาวคริสเตียนหรือ? ไม่มีอะไรจะห่างไกลจากความจริงได้เท่านี้อีกแล้ว

ไม่เหมือนกัน

แม้ว่าความเชื่อของศาสนาฮินดูจะมีความแตกต่างและหลากหลาย แต่ในโรงเรียนที่ดังที่สุดของฮินดูจะสอนว่าเทพเจ้านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราอย่างเป็นส่วนตัว (เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ใช้คำเรียกเทพเจ้าของศาสนาฮินดูอย่างสนิทสนม เพราะว่าเทพเจ้าของฮินดูไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเราอย่างเป็นส่วนตัว) ซึ่งตามหลักปรัชญาแล้วจะเรียกว่าเป็นความเชื่อในเรื่องของการมีมาตรฐานเดียว แต่ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอย่างไรก็ตาม นี่ก็ตรงข้ามกับความเชื่อของคริสเตียนอย่างสิ้นเชิง เพราะคริสเตียนเชื่อในองค์ตรีเอกานุภาพของพระเจ้าผู้มีความสัมพันธ์กับเราอย่างเป็นส่วนตัว

เราสามารถยกตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ทั้งจากศาสนาหลักๆและศาสนาย่อยๆในโลกนี้ เช่น เป็นเรื่องยากที่จะเอาเรื่องการบูชากบไปเทียบกับการนมัสการพระผู้สร้างที่มีฤทธิ์อำนาจไม่สิ้นสุดแล้วบอกว่าสองเรื่องนี้เหมือนกัน การที่จะบอกว่าทุกศาสนาสอนสิ่งเดียวกันนั้นไม่จริงเลย เพราะการที่เราบัญญัติคำขึ้นมาเพื่อใช้เรียกศาสนาต่างๆ เช่น พหุเทวนิยม (เชื่อในพระเจ้าหลายองค์) หรือสรรพเทวนิยม (เชื่อว่าเอกภพกับพระเจ้าเป็นสิ่งเดียวกัน) หรือเอกเทวนิยม (เชื่อว่ามีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว) ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า หลักคำสอนของแต่ละศาสนานั้นแตกต่างกัน

ไม่ใช่ทุกอย่างจะจริง

จากข้อความข้างบนก็ทำให้เห็นว่าการที่ทุกศาสนาจะถูกนั้นก็เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าบางคนอาจจะเชื่อว่าทุกศาสนาผิดหมด แต่เขาก็ไม่สามารถจะพูดได้อย่างสมเหตุสมผลว่าทุกศาสนานั้นถูกต้อง นักปรัชญาที่ชื่อเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ได้กล่าวไว้ว่า “มันชัดเจนเหมือนกับความจริงทางตรรกะว่า ถ้าแต่ละคนมีความคิดของตัวเอง ไม่มีใครเห็นด้วยกับใครเลย มันก็ต้องมีเพียงแค่คนเดียว (หนึ่งศาสนา) เท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูก

แน่นอนว่าเราไม่ได้กำลังพูดถึงในเรื่องคำสอนของแต่ละศาสนาในโลกนี้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นความจริงเลย (เพราะแม้แต่นาฬิกาตายก็ยังสามารถบอกเวลาอย่างเที่ยงตรงได้วันละ 2 ครั้ง) และนี่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในแต่ละศาสนาจะไม่มีอะไรคล้ายคลึงกันเลย เพราะบางอย่างเช่นการจัดลำดับชั้นของพระ พิธีกรรมในการนมัสการ และแบบแผนของความประพฤติปฏิบัติด้านศีลธรรม ก็เกือบจะเป็นสากลทั่วโลก แต่ที่เรากำลังสื่อสารคือว่า แต่ละศาสนามีความเชื่อพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของพระเจ้าและการที่มนุษย์จะไปถึงพระองค์ได้

จะขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจภาพชัดขึ้นในประเด็นนี้นั่นก็คือ มันเป็นความจริงที่เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้วจะเห็นว่ามีความคล้ายกันบ้างระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์ แต่ขณะเดียวกันคำสอนที่เป็นหัวใจหลักของ 2 ศาสนานี้ก็ไปด้วยกันไม่ได้เลย เช่น ในพระคัมภีร์ไบเบิลเขียนไว้ว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์มาเป็นมนุษย์เพื่อทำให้คนบาปกลับคืนดีกับพระเจ้าได้ ผ่านทางความตายของพระองค์บนไม้กางเขน (ยอห์น 1:14; มาระโก 10:14; โคโลสี 1:13-22; 2 โครินธ์ 5:19) ในขณะที่คัมภีร์อัลกุรอาน (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม) ได้เขียนว่าพระคริสต์เป็นเพียงผู้เผยพระวจนะแต่ไม่ใช่พระบุตรของพระเจ้า (ดูในคัมภีร์อัลกุรอาน บท 4:172; บท 5:73-78) พระองค์ไม่ได้ตายบนไม้กางเขน (บท 4:156-162) และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครตายเพื่อไถ่บาปให้ใครได้ (บท 6:165) มุมมองของทั้งสองศาสนาโดยพื้นฐานนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นความจริงก็ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างพระคริสต์ตายหรือว่าไม่ได้ตายบนไม้กางเขน จะบอกว่าทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและคัมภีร์อัลกุรอานให้ข้อมูลเรื่องพระคริสต์อย่างถูกต้องนั้นไม่ได้

ความพิเศษเฉพาะพระคริสต์เท่านั้น

สิ่งที่ทำให้ศาสนาคริสต์แตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ชีวิตของพระเยซูและสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำ นี่ก็เพราะว่าพระเยซูได้ทรงตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองเอาไว้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ถ้อยคำหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพิเศษเฉพาะตัวที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้ “พระบิดาของเราได้ทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา และไม่มีใครรู้จักพระบุตรนอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตรและผู้ใดก็ตามที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้” (มัทธิว 11:27) “เพราะพระบิดาทรงทำให้คนที่ตายแล้วฟื้นขึ้นมาและมีชีวิตฉันใด ถ้าพระบุตรปรารถนาจะกระทำให้ผู้ใดมีชีวิตก็จะกระทำเหมือนกันฉันนั้น เพราะว่าพระบิดามิได้ทรงพิพากษาผู้ใด แต่พระองค์ได้ทรงมอบการพิพากษาทั้งสิ้นไว้กับพระบุตร เพื่อคนทั้งปวงจะได้ถวายเกียรติแด่พระบุตรเหมือนที่เขาถวายเกียรติแด่พระบิดา ผู้ใดไม่ถวายเกียรติแด่พระบุตร ผู้นั้นก็ไม่ถวายเกียรติแด่พระบิดาผู้ทรงใช้พระบุตรมา” (ยอห์น 5:21-23) “เรากับพระบิดาของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยอห์น 10:30) “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา” (ยอห์น 14:6) “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” (ยอห์น 14:9)

ลองนึกภาพที่ศาสดาของศาสนาอื่นๆพูดในแบบที่พระเยซูพูด คิดดูว่าพระพุทธเจ้า ขงจื้อ หรือมูฮัมหมัดจะพูดถ้อยคำเหล่านั้นไหม จะมีใครหรือที่นอกจากพระเยซูแล้วจะกล้าพูดว่าตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระบิดา หรือให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของการนมัสการที่แท้จริง ซี. เอส. ลูอิส ก็แสดงมุมมองของเขาในเรื่องนี้ว่า “ถ้าสมมุติคุณไปถามพระพุทธเจ้าว่า ‘พระองค์เป็นพระบุตรของพระพรหมหรือไม่’ พระองค์คงจะพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย เจ้ายังอยู่ในหุบเขาแห่งภาพลวงตา’ ถ้าเราจะไปหาโสเครติสแล้วถามว่า ‘ท่านเป็นเทพซุสหรือเปล่า’ ท่านก็คงจะหัวเราะใส่หน้าคุณ ถ้าคุณไปถามมูฮัมหมัดว่า ‘ท่านเป็นพระอัลเลาะห์หรือ’ ท่านก็คงจะฉีกเสื้อคลุมของท่านแล้วตัดหัวคุณ และถ้าคุณไปถามขงจื้อว่า ‘ท่านเป็นสวรรค์ใช่มั้ย’ ผมคิดว่าขงจื้อก็คงจะตอบว่า ‘คำพูดใดๆที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติล้วนเลวทราม’” ลองกลับไปอ่านสิ่งที่พระเยซูพูดไว้ข้างบนอีกครั้งหนึ่งและลองไปหาอ่านข้อเหล่านี้ทั้งบริบทที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล แล้วคุณจะเห็นความพิเศษเฉพาะในพระเยซูเท่านั้น จะเห็นว่าแท้จริงแล้ว “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้นเลย(ยอห์น 7:46)

คำพูดของผู้ติดตามพระเยซูพวกแรกก็สะท้อนถึงความพิเศษเฉพาะของพระองค์ เช่น เปโตรพูดถึงพระเยซูกับพวกยิวว่า “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้ ไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า(กิจการ 4:12) เปาโลเองก็ยอมรับว่าพระกิตติคุณที่แท้จริงต้องมีเพียงอันเดียวเท่านั้น (พระกิตติคุณ หมายถึง “ข่าวประเสริฐ” เป็นข่าวดีที่ความตายของพระคริสต์ได้จัดเตรียมหนทางให้คนบาปสามารถกลับคืนดีกับพระเจ้าได้) เขาใช้คำที่ค่อนข้างแรงกับพวกที่ประกาศว่ามีพระกิตติคุณอื่น “แต่แม้ว่าเราเองหรือทูตสวรรค์ ถ้าประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่าน ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่เราได้ประกาศแก่ท่านไปแล้วก็ให้ผู้นั้นถูกสาปแช่ง(กาลาเทีย 1:8) และอัครฑูตยอห์นก็พูดไว้ในแบบที่ไม่เหมือนใครว่า “เราทั้งหลายรู้ว่าเราเป็นของพระเจ้า และชาวโลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่ว และเราทั้งหลายรู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาแล้ว และได้ทรงประทานความเข้าใจแก่เรา เพื่อให้เรารู้จักพระองค์ผู้เที่ยงแท้ และเราทั้งหลายอยู่ในพระองค์ผู้เที่ยงแท้นั้น คืออยู่ในพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ นี่แหละเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ และเป็นชีวิตนิรันดร์(1 ยอห์น 5:20)

ข้อสันนิษฐานของการรวมคำสอน

จากคำที่กล่าวถึงพระเยซูเหล่านั้นทำให้เห็นว่า ถ้าเราพยายามที่จะรวบรวมทุกศาสนาในโลกนี้เข้าไว้ด้วยกัน เราก็จะต้องเผชิญกับปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะมันอาจเป็นการเปลี่ยนศาสนาคริสต์ไปเป็นอย่างอื่นในแบบที่ต่างจากที่พระคริสต์หรืออัครฑูตได้พูดเอาไว้ หรือไม่ก็ทั้งระบบความเชื่อทุกอย่างจะต้องถูกเปลี่ยนใหม่หมด แต่น่าเสียดายที่มันมักจะออกมาในแบบแรกมากกว่า

สำหรับคริสเตียนที่ยอมให้มีการเปลี่ยนบางอย่างในศาสนาคริสต์เพื่อที่จะเข้ารวมกับศาสนาอื่นๆได้ แม้เขาจะอ้างว่าพวกเขาเป็นพวกไม่มีอคติและเปิดใจ แต่เชื่อได้เลยว่าคนพวกนั้นเป็นพวกที่หัวดื้ออย่างที่สุด เพราะประการแรกเลย เขาเชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงเปิดเผยพระองค์เองต่อมนุษย์อย่างน่าเชื่อถือและชัดเจนพอ นั่นคือ ไม่มีใครรู้จริงๆว่าพระเจ้าเป็นอย่างไร แม้ว่าโดยผิวเผินแล้ว การรวมทุกศาสนาเข้าด้วยกันจะดูเหมือนกำลังบอกว่าทุกศาสนาจริงเหมือนกันหมด แต่จริงๆแล้วนี่กำลังบอกว่าทุกศาสนาผิดหมด ไม่มีใครเลยที่จะรู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูกต้อง เหมือนเรากำลังคลำหาพระเจ้าที่เราไม่รู้จัก

ประการที่ 2 คือพวกที่สนับสนุนการรวมศาสนาจะทึกทักเอาเองว่า แค่เชื่อด้วยความจริงใจก็เพียงพอแล้ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าพระเจ้าเป็นอย่างไรจริงๆ ดังนั้นความเชื่อก็ไม่ได้สำคัญอะไรมาก แค่ให้เชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อด้วยสุดใจก็พอแล้ว แล้วทุกอย่างก็จะออกมาดีเอง

ประการที่ 3 เพราะว่าศาสนาส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่อง “กฎทอง” (“ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่คุณอยากให้เขาปฏิบัติต่อคุณ”) ดังนั้นคนที่พยายามดำเนินชีวิตตามนี้จะได้รับการยอมรับจากพระเจ้าที่เขาไม่รู้จัก สรุปแล้วหลักการของการรวมศาสนาก็คือ ให้มีความเชื่อในบางอย่าง (อะไรก็ได้) และพยายามดำเนินชีวิตในศีลธรรมอันดี

ศาสนาคริสต์ได้ให้คำตอบที่แสนจะง่ายและไม่ซับซ้อนแก่หลักความเชื่อของการรวมศาสนา นั่นก็คือ พระเจ้าได้บอกเราว่าพระองค์เป็นอย่างไร พระองค์ได้สำแดงพระองค์เองผ่านความทางความยิ่งใหญ่ของสรรพสิ่งรอบตัวเรา และผ่านทางความมีศีลธรรมในจิตใจของเรา พระเจ้าทรงให้บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรแก่มวลมนุษย์อย่างเป็นพิเศษ บันทึกนั้นได้บอกเราว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใดและมนุษย์สามารถกลับคืนดีกับพระองค์ได้อย่างไร จากการที่พระเจ้าทรงส่งพระบุตรเข้ามาอยู่ในโลกของเรา ให้อยู่ในสภาพเดียวกันกับเราและตายเพื่อเราในประวัติศาสตร์ของเรา ก็เป็นการสำแดงอย่างชัดเจนว่าศาสนาที่แท้จริงไม่ใช่ที่มนุษย์แสวงหาพระเจ้า แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงแสวงหามนุษย์ สำหรับหัวใจของศาสนาคริสต์นั้นไม่มีทาง 8 สาย (มรรค 8) หรือหลัก 5 ประการ หรือแนวทางปฏิบัติด้านศีลธรรมในแบบที่มนุษย์พยายามที่จะเป็นคนชอบธรรมต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยตัวเอง แต่ตรงกันข้าม ศาสนาคริสต์ป่าวประกาศความสำคัญอันไม่เปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูชาวนาซาเร็ธผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าทรงตั้งพระทัยที่จะให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นตั้งแต่ก่อนทรงสร้างโลก แล้วให้มันเกิดขึ้นเมื่อ 2,000 ปีที่ผานมา และให้มีการประกาศเรื่องนี้ออกไปทั่วโลก

ข้อความนี้ก็เรียบง่าย นั่นคือ พระเจ้าทรงอภัยบาปให้มนุษย์เพราะความตายและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระบุตรของพระองค์ ไม่มีทางอื่น

การเชื่อในบางสิ่งไม่ได้ทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ และการที่ไม่เชื่อในบางสิ่งก็ไม่สามารถทำให้สิ่งนั้นเป็นเรื่องไม่จริงด้วยเหมือนกัน ความเชื่อก็เป็นความจริงเท่ากับสิ่งที่เราเชื่อ แค่เพียงความจริงใจไม่อาจรับประกันอะไรได้เลย (สุภาษิต 14:12) จากการยึดมั่นในคำพยานที่เชื่อถือได้ของพระเจ้าเอง ทำให้คริสเตียนพูดกับทุกคนในทุกที่ได้อย่างเปรมปรีดิ์ว่า “จงเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์เจ้า และท่านจะรอดได้(กิจการ 16:31)