ปัญหาที่แก้ไม่ตกของดาร์วิน “ความสงสัยอันน่ากลัว”

ปัญหาที่แก้ไม่ตกของดาร์วิน “ความสงสัยอันน่ากลัว”

หนังสือเรื่องกำเนิดของสปีชีส์โดยชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา และตอนนั้นเองที่ทฤษฎีวิวัฒนาการได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย อันที่จริงแล้วคนทั่วไปจะคิดว่าทฤษฎีนี้เป็นความจริงของชีวิตเหมือนๆกับความจริงที่ว่าโลกกลมหรือเรื่องที่ไวรัสมีอยู่จริง ไม่มีผู้รอบรู้คนไหนจะสงสัยในเรื่องนี้

นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าคิดเนื่องจากหลายๆเหตุผล เมื่อมองจากมุมมองของทางวิทยาศาสตร์แล้ว ทฤษฎีวิวัฒนาการก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่แก้ไม่ตก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเป็นไปไม่ได้ในแง่ของหลักทางคณิตศาสตร์ ปัญหาที่สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองจากสิ่งไม่มีชีวิต ความสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตที่มีตั้งแต่แรก ช่องว่างระหว่างสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในซากฟอสซิล นี่เป็นแค่เพียงไม่กี่ตัวอย่างที่ยกมาเท่านั้น แต่การปฏิเสธที่จะไม่พิจารณาปัญหาทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ พวกนักวิวัฒนาการก็ยังต้องเจอคำถามที่ลึกซึ้งและยากจะหาคำตอบได้ให้กับข้อคัดค้านในเรื่องปรัชญาชีวิต โดยหลายปีก่อนที่ทฤษฎีนี้จะมาถึงบทสรุปที่สมเหตุสมผลในตัวเอง ตัวดาร์วินเองก็ต้องพบกับปัญหาเกี่ยวกับความหมายโดยนัยของตัวทฤษฎีวิวัฒนาการ และเหตุผลที่ทำให้นี่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของดาร์วินก็ควรจะถูกเปิดเผยให้กับเหล่านักศึกษาที่อยู่ในยุคของชีววิทยาสมัยใหม่ด้วย

ชีววิทยาวันนี้

ความหมายโดยพื้นฐานของความคิดของดาร์วินเป็นเรื่องของธรรมชาติวิทยา นั่นก็คือเขาพยายามจะทำให้ “ธรรมชาติ” เป็นคำตอบของรูปแบบของชีวิตที่หลากหลายรอบตัวเรา ซึ่งหลักการนี้ต่อต้านคำอธิบายเรื่อง “ความเหนือธรรมชาติ” ที่กล่าวว่ารูปแบบของชีวิตเหล่านี้เกิดจากการทรงสร้างของพระเจ้า ดังนั้นการมองหาต้นกำเนิด “ของสปีชีส์ต่างๆ” ก็จะต้องหาใน “กฎ” และกระบวนการทางธรรมชาติ ไม่ใช่หาจากน้ำพระทัยขององค์พระผู้สร้าง ผู้ติดตามดาร์วินเองก็ขยายความคิดของดาร์วินออกไปอย่างรวดเร็วว่าเรื่องกำเนิดสปีชีส์นั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับการกำเนิดของชีวิต ดังนั้นทฤษฎีทางชีววิทยาในปัจจุบันนี้จึงสอนว่าชีวิตเกิดมา “โดยธรรมชาติ” ตอนที่โมเลกุลที่เหมาะสมของสิ่งไม่มีชีวิตมารวมกันใน “น้ำซุปแห่งชีวิต” ของโลกนี้ในช่วงแรกเริ่ม และจาค โมนอด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเรียกมันว่า “ศูนย์กลางความคิดรวบยอดของชีววิทยาสมัยใหม่” ที่ “ความบังเอิญแท้ๆเท่านั้นที่เป็นรากฐานที่สำคัญของโครงร่างอันยิ่งใหญ่ของทฤษฎีวิวัฒนาการ” “จักรวาลไม่ได้ตั้งท้องสิ่งมีชีวิตขึ้นมาและบรรยากาศโลกก็ไม่ได้ให้กำเนิดมนุษย์ มันก็คล้ายๆกับชีวิตเราเป็นตัวเลขที่บังเอิญไปถูกรางวัลที่ 1 นั่นแหละ”

สรุปก็คือชีวิตเกิดขึ้นโดยความบังเอิญจากสิ่งไม่มีชีวิตในยุคแรกๆ จากนั้นโดยความบังเอิญและ “การคัดเลือกทางธรรมชาติ” นี่เอง ก็ทำให้เกิดความหลากหลายและทวีคูณกลายเป็นพืชและสัตว์สปีชีส์ต่างๆที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ และจี. จี. ซิมป์สันซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มผู้เชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการ ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของมนุษย์ไว้สั้นๆว่า “มนุษย์เป็นผลจากกระบวนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของวัตถุที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเป้าหมายที่ไร้ซึ่งความสนใจในตัวเขา เขาไม่ได้ถูกสร้างอย่างมีแผนงาน เขาเป็นเพียงสภาพหนึ่งของสสาร รูปแบบหนึ่งของชีวิต เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง และเป็นสปีชีส์หนึ่งของลำดับไพรเมท เราเป็นเหมือนญาติสนิทหรือไม่ก็เหมือนกับญาติห่างๆกับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างและก็รวมไปถึงสิ่งที่เป็นวัตถุด้วย”

ศีลธรรม “แต่มนุษย์สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้”

จุดนี้เองที่ทำให้ความหมายโดยนัยของทฤษฎีวิวัฒนาการที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วเริ่มที่จะกระจ่างขึ้น อันดับแรกคือ ถ้ามนุษย์เป็นเพียง “สภาพหนึ่งของสสาร” หรือเป็น “ผลจากกระบวนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของวัตถุที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเป้าหมายที่ไร้ซึ่งความสนใจในตัวเขา” ความมีคุณธรรมและศีลธรรมในมนุษย์ก็คงจะต้องหายไปด้วย ดังนั้นศีลธรรมในใจมนุษย์ตลอดจนการกระทำดีต่างๆก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าแค่เป็นกลไกที่เกิดจากความบังเอิญ แม้แต่ตัวดาร์วินเองก็ยังตระหนักได้ชัดว่าถ้าปราศจากพระเจ้าแล้วมนุษย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีศีลธรรมอะไร แต่ถึงกระนั้นเขาก็แค่สนับสนุนว่ามนุษย์ควรจะ “ทำหน้าที่ของตน” ต่อไป อย่างไรก็ตามมันไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสร้างความมีศีลธรรมขึ้นมาบนพื้นฐานที่ลอยอยู่กลางอากาศและบอกมนุษย์ให้ “แสร้งทำเป็นว่า” ศีลธรรมนั้นมีอยู่จริงทั้งๆที่มันไม่มี ถ้ามนุษย์เป็นเพียงความบังเอิญของจักรวาลจริง เป้าหมายในชีวิตของมนุษย์ก็ต้องสูญสิ้น

ความรู้ “ความสงสัยอันน่ากลัว”

แม้เราจะมาได้ไกลขนาดนี้แล้วแต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของดาร์วินจริงๆ ยังมีด้านมืดที่รอคอยให้มนุษย์ค้นพบมันอยู่ นั่นก็คือมนุษย์ไม่สามารถที่จะไว้ใจแม้แต่ความคิดของตัวเอง เหตุผลนี้เป็นเหมือนภาพลวงตาในตัวของมันเอง เพราะสมองของมนุษย์คืออะไร มันคือสสารก้อนหนึ่ง เป็นโมเลกุลต่างๆที่มารวมตัวกันโดยบังเอิญ และอะไรคือความคิดของมนุษย์ มันก็เป็นผลผลิตจากการที่โมเลกุลต่างๆมารวมตัวกันโดยบังเอิญด้วยเหมือนกัน แต่นี่ก็ชัดว่าถ้าความบังเอิญจะสร้างความคิดขึ้นมาได้ มันก็คงเป็นความคิดที่ไร้ความหมายใดๆ คำพูดของคอร์เนลิอุส แวน ทิว อาจช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดขึ้นได้ “ให้เราสมมุติภาพนี้ขึ้นมา มีผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำซึ่งเป็นน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดลึกล้น เขาปรารถนาจะออกมาจากน้ำนั้น เขาจึงสร้างบันไดขึ้นมาอันหนึ่งซึ่งก็ทำจากน้ำด้วยเหมือนกัน เขาเอาบันไดนั้นพาดไว้บนน้ำและพยายามจะปีนออกไปจากน้ำนั้น เราจะเห็นภาพของความสิ้นหวังและไร้ซึ่งเหตุผลของวิธีทางธรรมชาติของมนุษย์ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเวลาหรือความบังเอิญเป็นที่สุดของชีวิต กล่าวคือสมมติฐานของเขาหมายถึงต้องเชื่อว่า ความมีเหตุมีผลของเขาเป็นผลผลิตจากความบังเอิญ และแม้แต่กฎตรรกะต่างๆที่เขาใช้ก็มาจากความบังเอิญด้วย ความมีเหตุมีผลหรือเป้าหมายของอะไรก็ตามที่เขากำลังแสวงหาอยู่ก็เป็นเพียงผลผลิตของความบังเอิญ

หรือลองมองอีกทางหนึ่งที่ว่า ความคิดของมนุษย์เป็นภาพลวงตาที่เกิดมาจากการเคลื่อนที่ของโมโลกุลในสมองของเขา คาบานีส์กล่าวไว้ว่า “สมองผลิตความคิดเหมือนกับที่ตับผลิตน้ำดี” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องไม่มี “จิตวิญญาณ” ไม่มี “วิญญาณ” ไม่มี “ตัวตน” ไม่มี “ศูนย์กลางของความคิด” ในมนุษย์ที่จะแยกเขาออกมาจากสสารที่อยู่ในกะโหลกศีรษะของเขา (ก็ถ้ามันไม่เคยมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของคนใน “น้ำซุปแห่งชีวิต” ตั้งแต่แรก ก็เป็นไปไม่ได้ที่ตอนนี้จะมีสิ่งนี้ใน “ซุป” ที่จะรวมกันแล้วสามารถสร้าง “มนุษย์” ขึ้นมาได้ด้วยความบังเอิญ) ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในมนุษย์เป็นผลผลิตจากปฏิกิริยาทางเคมีในหัวของเขาที่ไม่มีเหตุมีผลอะไร ทุกความคิดของเขาเป็นเพียงผลจากกลไกการทำงานของวัตถุ ความคิดทั้งหลายของมนุษย์ไม่มีถูกหรือผิด มันเป็นเพียงแค่กระบวนการทำงานของร่างกายเท่านั้น เป็นแค่สารที่หลั่งออกมาของร่างกาย “นี่ก็เหมือนๆกับกระบวนการทำงานอื่นๆของร่างกายเช่น การย่อยอาหาร หรือกระบวนการหายใจ” (เอ. ฮูเวอร์)

หรือเราอาจจะมองจากมุมอื่นก็ได้ แต่ไม่ว่ายังไงก็ยังจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นหายนะอยู่ดี ตัวดาร์วินเองก็พูดว่า “แต่แล้วผมเองก็มักมีความสงสัยอันน่ากลัวขึ้นมาในใจว่า ความเชื่อมั่นในจิตใจมนุษย์ที่ได้พัฒนามาจากความคิดของสัตว์ที่ต่ำกว่าจะมีคุณค่าและไว้ใจได้หรือ จะมีใครล่ะที่จะไว้ใจความเชื่อมั่นที่มาจากความคิดของลิงถ้าสมมุติว่ามันมีความเชื่อมั่นแบบนั้นในความคิดจริงๆ” นี่ก็เป็นเหมือนการกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง เพราะจิตใจของมนุษย์ไม่อาจจะไว้ใจสิ่งใดได้เลย ไม่ไว้ใจแม้แต่ตัวทฤษฎีวิวัฒนาการเอง ความรู้ทั้งหมดต้องเป็นโมฆะไปและ “ความเป็นมนุษย์” ก็จะต้องหายไปด้วย

ดังนั้นในศตวรรษที่ 21 นี้มนุษย์เราต้องติดอยู่ในร่างแหแห่งความโง่เขลาของตัวเอง ร่างแหของความขัดแย้งในตัวเอง ความไม่พอใจในตนเอง และการประณามตัวเอง มนุษย์พูดว่า “ฉันจะเป็นอิสระ” เป็น “อิสระจากพระเจ้าและการควบคุมของพระองค์ เป็นอิสระจากศีลธรรมอันล้าสมัยของพระคัมภีร์ เป็นอิสระจาก ‘ความไม่เป็นวิทยาศาสตร์’ ‘นิทานปรัมปรา’ ของเรื่องการทรงสร้าง” “เป็นอิสระที่จะรู้อะไรก็ได้ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ เป็นอิสระที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง” “เป็นอิสระที่จะตัดสินใจเองว่าอะไรดีหรืออะไรชั่ว อะไรจริงหรืออะไรเท็จ” ดังนั้นการเดินทางของชีวิตมนุษย์ก็เริ่มต้นด้วยความหยิ่งและความพอใจของตนเอง มนุษย์ประกาศอิสรภาพของตนจากพระเจ้า เขาไม่ติดหนี้อะไรต่อพระผู้สร้าง และไม่ได้เป็นหนี้ต่อพระองค์ผู้ทรงประทานกฎ

แต่การเดินทางของมนุษย์กลับจบลงในแบบที่แตกต่าง มันจบลงด้วย “ความสงสัยอันน่ากลัว” มันจบลงด้วยการกรีดร้องและความไร้สติ จบลงด้วยการกำจัดศีลธรรมอันดีงามทิ้งไป จบลงด้วยความทะเยอทะยานที่ถูกบีบคั้น จบลงด้วยความเป็นจริงที่ไม่รู้และไม่อาจรู้ได้ในตัวเอง คนที่น่าจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก็กลายเป็นไม่รู้อะไรเลย คนที่น่าจะปีนขึ้นไปจนถึงดวงดาวแล้ว กลับพบว่าตัวเองกำลังพุ่งหัวลงมายังเหวลึกมืดมิดของความบังเอิญซึ่งเป็นที่ที่เขาจากมา

อาร์. เจ. รัชดูนี กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ที่ใดก็ตามที่มนุษย์ยืนกรานที่จะเป็นอิสระจากพระเจ้า ถึงเขาพูดว่าเขาแค่ปฏิเสธพระเจ้า แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธชีวิตหรือเรื่องความสัมพันธ์ คุณค่า หรือสังคม วิทยาศาสตร์และศิลปะ อย่างไรก็ตามเขาก็จะต้องพบกับความขัดแย้งในนั้นอยู่ดี เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะปฏิเสธพระเจ้าแล้วจะยังมีกฎระเบียบ ความยุติธรรม วิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตามที่แยกจากพระเจ้า เพราะทุกคนที่ไม่เชื่อพระเจ้าก็ต้องเชื่อเท่าที่เขาเองมีความยุติธรรมและกฎระเบียบในชีวิตของเขา และต้องยอมเชื่อเท่าที่เขามีชีวิตและชื่นชมยินดีในชีวิตนั้น

ไม่มีทางหนี

ความไม่เชื่อของมนุษย์ที่อยู่ในสมัยนี้เป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้ เขารู้ว่าเขาเป็นมากกว่าอนุภาคของสสารที่มีพลังงาน เขารู้ว่าความจริง ความสวยงาม ความมีเหตุมีผลและศีลธรรมนั้นไม่ใช่แค่ภาพลวงตา เขาไม่สามารถแม้แต่จะใช้ชีวิตแต่ละวันโดยที่จะไม่ได้เชื่อว่าความรู้นั้นเป็นไปได้และหน้าที่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นแทนที่เขาจะเลือกที่จะยอมรับพระเจ้าผู้สร้างเขาขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย เขากลับเลือกวิธีที่สิ้นคิดโดยไปก้มหัวให้กับสิ่งที่เรียกว่า “ความบังเอิญ” เขามองว่าไม่ว่าทางเลือกไหนก็ดีกว่าการยอมจำนนต่อพระคำและพระประสงค์ของพระผู้สร้างของเขาทั้งนั้น

พระคัมภีร์ประกาศว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ “ตามพระฉายาของพระองค์” (ปฐมกาล 1:26-27; ยากอบ 3:9) ดังนั้นมนุษย์ไม่สามารถที่จะมองตัวเองโดยไม่เห็นภาพสะท้อนของพระลักษณะของพระเจ้าในชีวิตเขาได้ เขารู้จักพระเจ้าและรู้ถึงการทรงสถิตอยู่และพระลักษณะของพระองค์ได้จากการแค่รู้จักตัวเอง แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะถูกความบาปทำให้เสียหายไป แต่พระฉายาของพระเจ้าก็ยังคงอยู่ในเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ และเป็นพยานอย่างหนักแน่นว่าเขาเป็นมากกว่าผลผลิตของความบังเอิญ มนุษย์สามารถรับรู้ถึงพระเจ้าได้ นี่เป็นสิ่งที่เขาหนีไม่ได้ตราบใดที่เขายังเป็น “มนุษย์” อยู่ และจะเป็นอย่างนี้ตราบเท่าที่ประกายของความมีเหตุมีผลและศีลธรรมยังอยู่ในจิตใจของมนุษย์

คุณเองก็จะพบว่าพระฉายาของพระเจ้าถูกประทับไว้ในหัวใจของคุณอย่างไม่อาจลบเลือนได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะหลงไปไกลจากศีลธรรมในพระคัมภีร์แค่ไหน คุณก็ยังรู้ว่าสิ่งที่ถูกและผิดมีอยู่จริง คุณรู้ว่าคุณเป็นคนบาปที่ไม่ว่ายังไงก็จะต้องถูกลงโทษแม้ว่าคุณจะใช้มาตรฐานความดีที่ไม่สูงนักของตัวเองเป็นตัวตัดสินก็ตาม และไม่ว่าคุณจะพยายามแค่ไหนในการข่มมันเอาไว้ แต่ลึกๆในใจของคุณก็จะร้องว่า คุณไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เครื่องจักร แต่คุณเป็นคนที่มีตัวตน คุณไม่ได้รับสิ่งนี้มาจากไดโนเสาร์ แต่คุณรับมันมาจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างคุณและเรียกคุณมาหาพระองค์เอง ทำไมไม่ลดแขนที่กำลังต่อต้านลง แล้วหันกลับมาหาพระองค์ล่ะ ที่จะรับใช้พระเจ้าก็เป็นอิสรภาพที่แท้จริง และที่จะรู้จักพระองค์นั้นก็เป็นชีวิตนิรันดร์

Kirksville, Missouri